“เลือดหมู” ช่วยฟื้นฟูเซลล์ปอด
“หมู” สัตว์อู๊ดๆๆ ที่มนุษย์กินเป็นอาหาร ได้กลายมาเป็นพระเอกหน้าใหม่ในวงการพัฒนาวิจัยทางการแพทย์ต่อจากหนูทดลอง และ ลิงแสม ซึ่งเคยเป็นสัตว์ที่มีพันธุกรรมใกล้เคียงมนุษย์ในการพัฒนายาและวัคซีนมากที่สุด
ล่าสุด สำนักข่าวบีบีซี รายงานว่า ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย สหรัฐอเมริกา ประสบความสำเร็จในการทดลอง ฟื้นฟูปอดที่เสียหายหลังได้รับบริจาคมาจากผู้เสียชีวิต ด้วยการเชื่อมต่อปอดนั้นเข้ากับหลอดเลือดที่ลำคอของหมูเป็นๆ เพื่อให้กระแสเลือดจากตัวหมูไหลเวียนเข้ามาฟื้นฟูเซลล์ปอด
รายงานวิจัยนี้ ได้รับการตีพิมพ์ใน วารสาร Nature Medicine ระบุว่า ปอดของมนุษย์ที่ได้รับบริจาคมาเพื่อการผ่าตัดเปลี่ยนถ่ายมี จำนวนมากที่เสียหายใช้การไม่ได้จนต้องทิ้งไปอย่างน่าเสียดาย การทดลองครั้งนี้ ถือเป็นความสำเร็จที่ทำให้แพทย์ค้นพบวิธีที่ช่วยซ่อมแซมปอดให้กลับมาอยู่ในสภาพดีเช่นเดิมได้ โดยใช้เลือดจากหมูที่ยังมีชีวิตอยู่
รายงานวิจัยดังกล่าว ระบุว่า วิธีนี้นอกจากจะช่วยซ่อมแซม ฟื้นฟูปอดให้ดีขึ้นแล้ว ยังช่วยเพิ่มจำนวนปอดที่สามารถนำไปผ่าตัดปลูกถ่ายเพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วยได้มากขึ้นกว่าเดิมถึง 3 เท่า โดยใช้เวลาเพียง 24 ชั่วโมง สามารถแก้ปัญหาความขาดแคลนซึ่งมาจากการที่ปอดเป็นอวัยวะบอบบางเสียหายง่าย และเสื่อมสภาพอย่างรวดเร็วหลังนำออกจากร่างกายผู้บริจาคเพียงไม่กี่ชั่วโมง
การทดลองฟื้นฟูปอดครั้งนี้ ทำการฟื้นฟูปอดจากผู้บริจาคอวัยวะ 6 ราย ซึ่งแพทย์วินิจฉัยแล้วว่าปอดมีความเสียหายจนไม่สามารถใช้ผ่าตัดเปลี่ยนถ่ายได้ โดยนอกจากจะเชื่อมต่อปอดดังกล่าวเข้ากับระบบไหลเวียนโลหิตของหมูเป็นๆ ที่ถูกวางยาสลบอยู่แล้ว ยังมีการใช้เครื่องช่วยหายใจปั๊มอากาศเข้าสู่ปอด และให้ยากดภูมิคุ้มกันเพื่อไม่ให้ร่างกายของผู้รับบริจาคปอดต่อต้านเซลล์บางส่วนจากร่างกายหมูที่อาจเข้าไปปนเปื้อนอยู่ด้วย
ผลการทดลอง ปรากฏว่าเนื้อปอดส่วนที่ขาวซีดเหมือนกับได้ตายไปแล้ว กลับมาเป็นสีชมพูสดภายในเวลา 24 ชั่วโมง ซึ่งแสดงถึงการแลกเปลี่ยนก๊าซได้ตามปกติเกือบทั้งหมด ทั้งยังพบว่าเนื้อ เยื่อและโครงสร้างของปอดกลับมามีคุณภาพในระดับดีพอที่จะนำไปผ่าตัดเปลี่ยนถ่ายได้
ที่ผ่านมา ก่อนที่จะมีการ ทดลองครั้งนี้ ในการฟื้นฟูปอดที่เสื่อมสภาพ แพทย์จะใช้อุปกรณ์ EVLP ปั๊มอากาศและของเหลวที่มีออกซิเจนสูงเข้าไปช่วยฟื้นฟูปอดที่เสียหาย แต่ก็ไม่ได้ผลดีนัก ทีมนักวิจัยจึงพยายามคิดวิธีที่จะใช้การทำงานของร่างกายคนหรือสัตว์ที่ยังมีชีวิตอยู่แทน เพื่อให้สารอาหารที่จำเป็นและถ่ายเอาสารที่เป็นอันตรายออกจากปอดได้ดีขึ้น
ในอนาคต ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย มีแผนจะพัฒนาเทคนิควิธีนี้ต่อไป เพื่อให้ถึงขั้นที่ผู้รับการผ่าตัดเปลี่ยนถ่ายใช้ระบบไหลเวียนโลหิตของตนเองฟื้นฟูปอดที่ได้รับบริจาคมาได้ ซึ่งจะสามารถหลีกเลี่ยงปัญหาทางจริยธรรมและการที่ภูมิคุ้มกันของคนไข้ต่อต้านอวัยวะใหม่ด้วย ที่สำคัญหากการรักษาสภาพปอดที่เสียหายสามารถทำ ได้ดี โอกาสที่จะลดการเสียชีวิตของผู้ป่วยจากโรคโควิด-19 ก็อาจมีมากขึ้น เนื่องจากสาเหตุการเสียชีวิตจากโควิค-19 คือ ระบบหายใจล้มเหลวจากภาวะปอดอักเสบ
ผลการทดลองดังกล่าว ได้รับการเผยแพร่ในวารสาร Nature โดยนักวิจัย ระบุว่า จุดประสานประสาทหรือไซแนปส์ (Synapse) ซึ่งเป็นรอยต่อที่เชื่อมการสื่อสารระหว่างเซลล์ประสาทสมองแต่ละเซลล์ ได้กลับมามีความเคลื่อนไหวอีกครั้ง แม้สมองหมูที่ใช้ทดลองจะได้ชื่อว่าเป็นสมองที่ตายไปแล้วถึง 10 ชั่วโมง ทั้งนี้ สมองหมูดังกล่าวสามารถมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อยาบางชนิดได้เหมือนกับสมองที่ยังไม่ตาย ทั้งยังมีอัตราการใช้ ออกซิเจนมากเท่ากับสมองในภาวะปกติ แต่ไม่พบสัญญาณการเคลื่อนไหวของสัญญาณไฟฟ้าตลอดทั่วทั้งสมอง ซึ่งแสดงว่า แม้สมองจะฟื้นตัวแต่สติสัมปชัญญะ การรับรู้และความคิดอ่านอาจไม่ได้เกิดขึ้น
ความรู้ที่ได้จากการทดลองดังกล่าว อาจจะเป็นประโยชน์ต่อการรักษาโรคสมองเสื่อม อัลไซเมอร์, ดีเมนเชีย หรือซีนาย ดีเมนเชีย รวมทั้งการฟื้นฟูเซลล์สมองในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ผู้ประสบอุบัติเหตุจนสมองได้รับความกระทบกระเทือน หรือทารกที่สมองขาดออกซิเจนเมื่อแรกเกิดในอนาคต
แหล่งที่มา : https://www.thairath.co.th/lifestyle/woman/health/1896681